วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้ แก่เครือข่ายภาคประชาชน ในจังหวัดสระแก้วเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

วันนี้ ( 23 เม.ย.) ที่โรงแรมอินโดจีน อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดกิจกรรมโครงการ "สร้างองค์ความรู้เครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติภาคประชาชน เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย ประจำปี 2557" มีนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรม และกล่าวปาฐกถาพิเศษ แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่และชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน จากทั้ง 9 อำเภอ ของจังหวัดสระแก้ว กว่า 200 คน

การฝึกอบรมตามโครงการดังกล่าว มีจุดมุ่งหมาย เพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วไป และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ รวมถึงอาสาสมัครเครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติภาคประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเตือนภัยในปัจจุบัน และมีความพร้อมที่จะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อให้ทราบถึงภารกิจ และการทำงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ภายใต้หลักการบูรณาการความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร และด้านเทคโนโลยี ที่จะต้องเชื่อมโยงถึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อจะให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมความพร้อม เพื่อการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายและผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จังหวัดสระแก้วประสบปัญหาภัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อเร็วนี้ได้เกิด วาตะภัย ขึ้นที่อำเภออรัญประเทศและอำเภอตาพระยา ถึงแม้จังหวัดได้ประกาศเตือนและป้องกันแล้วแต่ก็ยังมีความเสียหายเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุทกภัยที่ เกิดขึ้นทุกปี สร้างความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการคอยเฝ้าระวัง ร่วมเป็นเครือข่าย ทั้งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น วางระบบการจัดการ สร้างกลไกการเชื่อมโยงประสานกันตั้งแต่ในระดับชาติ ถึงระดับพื้นที่ ตำบล หมู่บ้าน เพื่อจะทำให้เกิดการบริหารจัดการ ด้านการระวังภัยอย่างเป็นระบบ และมีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะสามารถป้องกันภัยพิบัติ และลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

การอบรมครั้งนี้ ได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการภัยพิบัติ,ภัยพิบัติทางธรรมชาติในท้องถิ่น,การซักซ้อมความเข้าใจของเครือข่ายด้านการติดต่อประสานงาน, การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการขอรับการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับการเตือนภัย การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุเชิงปฏิบัติของชุมชนต่อภาวะภัยพิบัติ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรม สมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติภาคประชาชน อีกด้วย



ดุลยศํกดิ์/ภาพ/ข่าว/23 เมย.2557

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น