วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

จันทบุรี จัดโครงการจังหวัดเคลื่อนที่

จังหวัดจันทบุรี จัดโครงการจังหวัดเคลื่อนที่  เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

วันนี้ ( 11 ก.พ. 57 ) ที่ วัดบางสระเก้า ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี  นายเกรียงเดช เข็มทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดโครงการจังหวัดเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ท้องถิ่นชนบทให้ได้ รับความสะดวกในการขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐและเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รับฟังข้อเสนอแนะ จากท้องถิ่นมาปรับปรุงพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน และมีการออกให้บริการแก่ประชาชน มีการมอบถุงยังชีพแก่ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย สำนักงานเหล่ากาชาดบริการตรวจวัดสายตาและแจกแว่นสายตาฟรีแก่ผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ยังได้มอบทุนการศึกษา และรถจักรยาน จำนวน 10 คัน ให้แก่เด็กนักเรียนตามโครงการจักรยานเรียนดี สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่ตำบลบางสระเก้าต้องการได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมี 4 ประการได้แก่ 1.ปัญหาด้านคุณภาพชีวิตที่ต้องการสถานที่ออกกำลังกายและสนามกีฬาที่ได้มาตรฐาน 2.ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาขยะชุมชน 3.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไฟตกกระชากบ่อยทำให้เกษตรกรผู้ทำนากุ้งและเลี้ยงปลาได้รับผลกระทบ 4.ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานขาดงบประมาณงบประมาณดำเนินการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก หมู่ที่ 3

สำหรับโครงการจังหวัดเคลื่อนที่จะออกให้บริการเป็นประจำทุกเดือนสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนครอบคลุมทุกพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี มีการให้บริการต่างๆมากมายอาทิเช่น บริการตรวจรักษาโรคและแจกเวชภัณฑ์ยา  บริการอุดฟัน  ถอนฟัน  บริการทำบัตรประชาชน จดทะเบียนสมรส ขึ้นทะเบียนทหาร ต่อใบอนุญาตขับขี่ ต่อทะเบียนรถ ให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมาย ชี้แนะความรู้เรื่องแรงงาน หลักประกันสังคม ส่งเสริมอาชีพต่างๆ และมีการจดทะเบียนคนพิการ  การจัดแสดงสาธิตและจำหน่ายสินค้า โอท็อป สินค้าของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร บริการตรวจเช็คซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ รถจักยานยนต์ เครื่องสูบน้ำ บริการตัดผมและเสริมสวย บริการทำหมัน สุนัข และแมว ซึ่งการออกหน่วยในแต่ละครั้งได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่มาขอรับบริการเป็นจำนวนมาก
                                                             

จรัล/ภาพ/ข่าว

จังหวัดมหาสารคาม กำหนดจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการค้าข้าวหอมมะลิกับผู้บริโภคในจังหวัดตราด

(8 ก.พ. 57) นายกฤษฎา อินทชาติ พาณิชย์จังหวัดตราด เปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดมหาสารคามกำหนดจัดกิจกรรม "Road Show ข้าวหอมมะลิมหาสารคมสู่จีงหวัดตราด” ภายใต้โครงการพัฬยสข้าวหอมมะลิจังหวัดมหาสารคาม ประจำปี 2557 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลผลิตข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของจังหวัดมหาสารคาม ในส่วนของจังหวัดตราดสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมหาสารคาม ได้กำหนดนำผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้าข้าวหอมมะลิจากแหล่งผลิตข้าว มาพบกับผู้บริโภคโดยตรงภายใต้กิจกรรมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ นี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 18.00 น. ณ บริเวณหน้าร้านสหกรณ์จังหวัดตราด ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างโอกาส และเชื่อมโยงตลาดให้ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิไทย สู่ผู้บริโภคในประเทศ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถทำตลาดได้

รวมทั้งเกษตรกรสามารถมีช่องทางในการจำหน่ายข้าวหอมมะลิคุณภาพ ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการค้าในประเทศระหว่างกัน การจัดงานดังกล่าวภายในงานจะมีการแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของจังหวัดมหาสารรคาม ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และข้าวกล้อง มาจำหน่ายในราคาพิเศษ จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจร่วมอุดหนุนข้าวหอมมะลิได้จากงานดังกล่าว

กรมเจ้าท่า กำหนดเปิดเวทีศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองหินดำ เกาะกูด จ.ตราด

(9 ก.พ. 57) นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ดำเนินโครงการศึกษษผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองหินดำ อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงท่าเทียบเรือคลองหินดำที่ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรม ให้สามารถใช้งานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเกาะกูด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายงานความก้าวหน้า ครั้งที่ 2 ดังนั้นเพื่อเป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 จึงได้มีการกำหนดจัดเวทีรับฟังความคิกดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนขึ้น ในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ นี้ ระหว่างเวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด กรมเจ้าท่าจึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียกับโครงการเข้าร่วมเวทีนี้ตามวันและเวลาดังกล่าว

ศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกิจกรรมอบรมเยาวชนป้องกันยาเสพติด ให้กับนักเรียนโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม

(9 ก.พ. 57) พลเรือตรี บรรพต เกิดภู่ เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ทัพเรือภาคที่ 1 เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดกิจกรรมการอบรมเยาวชนป้องกันยาเสพติด ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย โรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม โดยมีนาวาเอก กฤษณ์ เคลือบมาศ รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และบำบัดฟื้นฟู ศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ทัพเรือภาคที่ 1 และรองผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น โดยมีนายอำเภอแหลมงอบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมงอบ ผู้อำนวยการโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม คณะครู และนักเรียน จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมในพิธี

เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า ด้วยผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของเยาวชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยให้ความสำคัญกับสถาบันการศึกษาเป็นอันดับแรก จึงได้ร่วมมือกับทางโรงเรียนแหลมงอบวิทยาคม จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้กับน้องๆนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย พร้อมทั้งจัดการแข่งขันกีฬาป้องกันยาเสพติดขึ้นเพื่อ ให้ความรู้และปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ได้ทราบถึงพิษภัยและโทษของยาเสพติด และให้เยาวชนรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มเล่นกีฬา การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรมได้แก่ กิจกรรมการอบรมเยาวชนป้องกันยาเสพติด และกิจกรรมการแข่งขันกีฬาป้องกันยาเสพติด อย่างไรก็ดีในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เด็กและเยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวและห่างไกลจากยาเสพติด

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตราด จัดกิจกรรมสื่อสัญจรเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามโครงการประชาสัมพันธ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

(9 ก.พ. 57) สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตราดจัดกิจกรรมสื่อสัญจรเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว และวิทยาลัยโพธิวิชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามโครงการประชาสัมพันธ์เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ของกรมประชาสัมพันธ์ มอบหมายให้สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตราดดำเนินโครงการ โดยมีสื่อมวลชนท้องถิ่นแขนงต่าง ๆ อาสาสมัครประชาสัมพันธ์หมู่บ้านและชุมชน (อป.มช.) ปราชญ์ชาวบ้าน ในพื้นที่จังหวัดตราดกว่า 40 คน เข้าร่วมโครงการ

สำหรับโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เป็นโครงการพระราชดำริในมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และได้พระราชทานชื่อว่า โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ โดยให้เป็นศูนย์การอบรมกระบือในการทำนา ทำการเกษตร และกิจกรรมต่างๆ และให้ความรู้แก่เกษตรกรที่สนใจจะใช้ประโยชน์จากกระบือในการประกอบอาชีพ รวมทั้งจัดทำแปลงสาธิตทางการเกษตรรูปแบบต่างๆ

ส่วน วิทยาลัยโพธิวิชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งส่งเสริมการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในระบบการศึกษา โดยมุ่งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจัดการความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับครอบครัว และชุมชน ผ่านกระบวนการศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นการสร้างกระบวนการผลิตบัณฑิตคืนถิ่น ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม แนวการพัฒนาที่มีความสมดุล คำนึงถึงบริบทของชุมชน เพื่อชุมชนเข็มแข็งและยั่งยืน รวมทั้งการจัดการศึกษาในชุมชน เพื่อเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตามการจัดโครงการสื่อมวลชนสัญจรในครั้งนี้เป็นการมุ่งให้ผู้เข้าร่วมโครงการร่วมเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปขยายผลสู่ประชาชนต่อไป

สมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.ตราด ปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันสถาปนากองร้อยอาสารักษาดินแดนปีที่ 60

วันที่ (10 ก.พ. 57) บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตราด นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ในฐานะผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดตราด เป็นประธานในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามของสมาชิกกองอาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดตราด เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากองอาสารักษาดินแดน วันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยปีนี้นับเป็นปีที่ 60 ที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติกองอาสารักษาดินแดน

ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดตราดได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือส่วนราชการ ภาคเอกชน ท้องถิ่น และประชาชนในจังหวัดตราดอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยในยามวิกฤติจากสถานการณ์ก่อการร้าย การดูแลความสงบสุขของสังคมและประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการช่วยเหลือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ถึงแม้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนภาระของทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง แต่กองร้อยอาสารักษาดินแดนก็พร้อมที่จะปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภาคราชการอื่น ๆ เพื่อประชาชน อย่างไรก็ตามนอกจากการจัดพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามในครั้งนี้แล้ว ยังมีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับสมาชิด อ.ส. ที่ล่วงลับไปแล้ว การมอบทุนการศึกษาให้กับบุตรสมาชิก อ.ส. ที่มีผลการเรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อยจำนวน 39 ทุน และมอบของขวัญให้กับสมาชิก อ.ส. อีกด้วย

กรมเจ้าท่า เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบ เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองหินดำ เกาะกูด จ.ตราด รองรับการขยายตัวการท่องเที่ยว

(11 ก.พ. 57) นายทรงกลด พึ่งสอนรักษ์ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายบริหารงานปกครอง อำเภอเกาะกูด เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองหินดำ อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ซึ่งกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการออกแบบสำรวจ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมีนายบุญเรียง รัตนบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาตราด ตลอดจนส่วนราชการ ระดับจังหวัด อำเภอ ผู้นำท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ที่ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด

นายกิตติรัศมิ์ เมธีกุล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมเจ้าท่า กล่าวว่า ท่าเทียบเรือคลองหินดำ ของอำเภอเกาะกูด ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยกรมโยธาธิการในสมัยนั้น ปัจจุบันตัวสะพานท่าเทียบเรืออยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมเสี่ยงอัตรายแก่ผู้ใช้งานท่าเทียบเรือแห่งนี้ ทางกรมเจ้าท่าจึงได้ดำเนินโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือแห่งนี้ จึงได้ดำเนนการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองหินดำ อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ก่อนที่จะดำเนินการออกแบบก่อสร้างท่าเทียบเรือใหม่ทดแทนท่าเทียบเรือเดิม ที่มีสภาพโครงสร้างของท่าเทียบเรือที่ชำรุด ทั้งนี้เพื่อให้ท่าเทียบเรือคลองหินดำสามารถใช้งานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเกาะกูด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันเกาะกูดมีอัตราการขยายตัวของการท่องเที่ยวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการดำเนินโครงการนี้จะยังประโยชน์ต่อระดับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตมการดำเนินโครงการนี้ในเบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ออกแบบท่าเทียบเรือแห่งนี้ได้ออกแบบเป็น 3 รูปแบบ คือ แบบตัวที แบบก้างปลา และแบบตัวแอล ซึ่งหลังการจัดเวทีครั้งนี้ผู้เข้าร่วมเวทีต่างมีความเห็นในการเลือกรูปแบบตัวที ซึ่งเป็นรูปแบบเดิม แต่มีควากว้าง และความยาว ของตัวสะพานท่าเทียบเรือมากกว่าเดิม ซึ่งหลังจาการจัดเวทีครั้งนี้แล้วจะมีการจัดเวทีชี้แจงร่างผลการศึกษาความเหมาะสม และร่างรายละเอียดของโครงการก่อสร้าง รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในครั้งที่สองประมาณเดือนเมษายน 2557 จากนั้นจะได้มีการจัดเวทีรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นของจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไป ทั้งนี้หากผ่านกระบวนการทั้ง 3 ขั้นตอนแล้วคาดว่าทางกรมเจ้าท่าจะสามารถตั้งของบประมาณดำเนินโครงการนี้ได้ในปีงบประมาณ 2560 ต่อไป

รพ.ระยอง ดึงสถานประกอบการ ร่วมสัมมนา “รู้ไว้ใช้สิทธิ ปี 57” เพื่อให้ทราบสิทธิพิเศษการรับบริการ

วันที่ 11 ก.พ.เวลา 10.00 น.ที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ระยอง รพ.ระยอง ได้จัดให้มีการสัมมนา เรื่อง "รู้ไว้ใช้สิทธิ ปี 57”โดยมีผู้แทนสถานประกอบการ หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ จำนวน 200 คน มีนายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ รพ.ระยอง แพทย์หญิงลัญชนา ปาลสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ รพ.ระยอง และทีมแพทย์จาก รพ.ระยอง มาให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการเข้ารับบริการ ณ รพ.ระยอง นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ รพ.ระยอง กล่าวว่า ตามที่ทราบกันดีแล้วว่า รพ.ระยอง เป็น รพ.คู่สัญญาหลักในโครงการประกันสังคม 

ซึ่งเราได้มีความมุ่งมั่นที่จะมีการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างบริการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านระบบการบริการ อาคารสถานที่ รวมถึงการพัฒนาบุคคลเพื่อให้มีความพร้อมที่จะรองรับการให้บริการประชาชนชาวระยองได้อย่างพอเพียง ซึ่ง รพ.ระยอง ได้จัดการประชุมสัมมนาสถานประกอบการ หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้รับบริการที่จะได้รับทราบถึงการพัฒนาปรับปรุง สิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนประกันสังคม สิทธิพิเศษและการเข้ารับบริการ ณ รพ.ระยอง

จ.ฉะเชิงเทราประชุมคณะทำงาน CORE TEAM TO BE NUMBER ONE

วันนี้ (11 ก.พ.57)  นายบัณฑิตย์  เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา และในฐานะประธานคณะทำงาน CORE TEAMจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานในการประชุมคณะทำงาน CORE TEAM  TO BE NUMBER ONE   ครั้งที่1 ประจำปีงบประมาณ 2557  โดยมี คณะทำงานทุกประเภท และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง   ณ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

สำหรับเรื่องที่ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ เรื่อง การประชุมคณะทำงาน CORE TEAM  TO BE NUMBER ONE จังหวัดฉะเชิงเทรา ครั้งแรกเพื่อเตรียมการข้าร่วมประกวดใน ระดับภาคระดับภาคกลางและตะวันออก ในวันอังคารที่ 12 มีนาคม  2557  ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี จึงขอให้คณะทำงานและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นกำลังใจในการประกวดด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมได้ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์การประกวดออกแบบโลโก้และประกวดเรียงความฯในวาระครบรอบ 12 ปี TO BE NUMBER ONE และเรื่องการประกวดเยาวชน TO BE NUMBER ONE  IDOLS  วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม 2557  ณ ลาน SUNKEN (ฝั่งชายหาด) ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช จังหวัดชลบุรีและโอกาสนี้ที่ประชุมได้แจ้งงบประมาณการดำเนินงาน TO BE NUMBER ONE  ของชมรมประเภทต่างๆได้รับสนับสนุน จากจำนวน120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน) เป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการประกวดจังหวัด/ชมรม TO BE NUMBER ONE   ระดับภาคระดับภาคกลางและตะวันออก ประจำปี 2557 ทั้งนี้ได้มีการซักซ้อมการนำเสนอกลุ่มต้นแบบ และกลุ่มดีเด่นด้วย



ชาญณรงค์/ข่าว
อมรเทพ-ภาพ
ส.ปชส.ฉะเชิงเทรา

รอง ผวจ.ฉะเชิงเทรา ลงเรือ ออกตรวจ ปราบปรามผู้ละเมิดพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่าน น้ำไทยฯ และ ตรวจสภาพการจ้างงานสภาพการทำงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการด้านการประมง

วันนี้ (11 ก.พ. 57) นายไพศาล วิมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นำเรือออกตรวจ ปราบปรามผู้ละเมิดพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่าน น้ำไทย และ ตรวจสภาพการจ้างงานสภาพการทำงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการด้านการประมง โดยมี นางสาวเทียมจิต อมาตยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา นายชาญชัย ช่างสาร สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมตรวจ ณ บริเวณแม่น้ำบางปะกง ตั้งแต่เขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จนถึง บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

นายไพศาล วิมลรัตน์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า การออกตรวจ ปราบปรามผู้ละเมิดพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่าน น้ำไทยฯ และ ตรวจสภาพการจ้างงานสภาพการทำงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการด้านการประมง เป็นการร่วมบูรณาการกันระหว่าง จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทราและหน่วยงานในสังกัด สํานักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฉะเชิงเทรา และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการตรวจตราความปลอดภัยของท่าเทียบเรือ ตรวจเอกสารเกี่ยวกับการเรือและผู้ควบคุมเรือ และ ตรวจปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเด็กในกิจการด้านการประมง

ซึ่งต่างประเทศมองว่าประเทศไทยนั้นมีการใช้แรงงานเด็กมีการกดขี่ขมเหงแรงงานเด็ก จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก จึงได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมออกตรวจปัญหาดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจในวันนี้ ไม่พบผู้การกระทำผิดพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่าน น้ำไทยฯ และปัญหา การค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการด้านการประมง ทั้งแรงงานผิดกฎหมายและแรงงานเด็ก และนอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ที่ร่วมออกตรวจยังได้ให้ความรู้กฎหมายด้านแรงงาน กฎหมายด้านการเดินเรือและ ความรู้การเดินเรืออย่างปลอดภัย กับ เรือที่ได้ทำการเข้าตรวจสอบอีกด้วย