วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กอ.รมน.จันทบุรีจัดอบรมเยาวชนโครงการเทิดทูนสถาบัน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดจันทบุรีจัดอบรมโครงการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ ส่งเสริมเยาวชนระดับอุดมศึกษาให้รู้รัก สามัคคี

วันนี้ ( 18 ก.พ.57 ) ที่อาคาร กปร.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดจันทบุรีได้จัดกิจกรรม โครงการเทิดทูนสถาบันหลักของชาติไทย โดยมีพลตรีบำรุง ศรีเสวก รองผู้อำนวยการสำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นประธานเปิดอบรมพร้อมบรรยายพิเศษ ซึ่งนาวาโทกายสิทธิ์ วงศ์ดินดำ รองหัวหน้ากลุ่มงานกิจการมวลชนและประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.จันทบุรีกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดอบรมครั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด และยังเป็นการเผยแพร่พระราชกรณี แนวคิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริและขยายผลศูนย์การเรียนรู้สู่ชุมชน หมู่บ้าน และราษฎรอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ศึกษาและเรียนรู้วิถีชีวิตตามแนวทางพระราชทาน โดยการใช้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เป็นศูนย์กลางการศึกษา ทดลอง วิจัย และการปฏิบัติจริง  สำหรับการจัดอบรมในครั้งนี้มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมเข้ารับการอบรม 115 คน มีระยะเวลาในการเข้าค่ายอบรมรวม 3 วัน



จรัล/ภาพ/ข่าว

ฉก.นย. 182 สนธิกำลัง ฝ่ายปกครอง อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กวาดล้างแรงงานต่างด้าวเถื่อนได้กว่า 300 คน

(18 ก.พ. 57)   น.ท.สุรศักดิ์ ศรีเผือก ผบ.ฉก.นย.ที่ 182 บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด พร้อมกำลังทหารนาวิกโยธินกว่า 100 นาย สนธิกำลังกันกับ อส.ฝ่ายปกครองอำเภอคลองใหญ่ โดยมี นายปิยวุฒิ ประสิทธิเวช กำนัน ต.หาดเล็ก นำ ชรบ.เข้าร่วมรวมแล้วเกือบ 200 นาย เพื่อและกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวเถื่อนในพื้นที่ เป็นการจัดระเบียบพื้นที่ เป็นการปรามไม่ให้แรงานต่างด้าวนั้นเหิมเกริมสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่ เป้าหมายชุมชน บ้านคลองมะขาม-ชุมชนคลองสน หมู่ 1-5 ต.หาดเล็ก โดยมีการวางแผนกระจายกำลังกัน เข้าตรวจค้นหลายจุดด้วยกัน อาทิเช่น ซอย ป่าโกงกาง ตามท่าเทียบเรือประมง ซึ่งเป็นแหล่งที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา จำนวนมาก

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นตามเป้าหมายก็ได้พบแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาทั้งชายและหญิง บางส่วนเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่ได้แสดงอาการตกใจ วิ่งหนีกระโดดลงทะเล สามารถควบคุมตัวได้ทั้งหมด 323 คนเป็นชาย 181 คน หญิง 142 คน จึงนำตัวมารวมกันที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านคลองมะขามหมู่ 1 ต.หาดเล็ก เพื่อทำการถ่ายรูปทำประวัติและสุ่มตรวจฉี่แรงงานต่างด้าวชายที่น่าสงสัย ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นลูกเรือประมง และอยู่ตามท่าเทียบเรือประมง-โรงน้ำแข็ง-คาราโอเกะ จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีบัตรรวมทั้งหมดจำนวน 226 คน หญิง 122คน ชาย 104 คน ตรวจพบฉี่สีม่วง จำนวน 34 คน จึงควบคุมตัวแรงงานต่างด้าวที่พบสารเสพติดให้ ร.ต.ท. วีรวิชญ์ บัวสันเทียะ พนักงานสอบสวน สภ.อ.คลองใหญ่ ดำเนินคดี ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรทั้งหมด ทหารได้นำบันทึกอย่างละเอียดแล้วได้ส่งตัวให้ ตม.คลองใหญ่ เพื่อทำการผลักดันออกนอกประเทศต่อไป

ปภ.ตราด เสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กับชุมชนตำบลห้วยแร้ง

(18 ก.พ. 57)  นายฐิตนันท์ อุดมสุข หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด กล่าวหลังการเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กับประชาชนหมู่ที่ 2, 3 และ 5 ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแร้ง ว่า ในอดีตรูปแบบการดำเนินการจัดการภัยพิบัติ คือ การตั้งรับโดยเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้วจึงเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาที่ตามมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่มากมาย แต่การดำเนินการโครงการนี้เป็นแนวคิดในการจัดการภัยพิบัติแผนใหม่ คือ การดึงประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ โดยการให้ประชาชนเข้ามาคิดเองจัดการเองว่าในหมู่บ้านของตนมาสิ่งแวดล้อมอย่างไรภัยพิบัติที่เสี่ยงต่อหมู่บ้านของตนมีอะไรบ้าง จากนั้นประชาชนจะได้ร่วมกันจัดทำแผนที่ชุมชนว่าพื้นที่ตรงไหนของหมู่บ้านเป็นจุดเสี่ยงภัย หรือพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ปลอดภัย จากนั้นจึงให้ประชาชนร่วมจำลองสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติในหมู่บ้านของตนพร้อมทั้งเรียงลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยงดำเนินการ อย่างไรก็ตามการดำเนินการในครั้งนี้ได้มีการคัดเลือกตำบลแห่งนี้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังจากน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนในชุมชน พร้อมทั้งสร้างระบบเตือนภัยในชุมชน และมีการจัดตั้งทีมกู้ภัยประจำชุมชน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ประชาชนในชุมชนดังกล่าวสามารถขนย้ายทรัพย์สิน และเอาตัวรอดจากเหตุการณ์โดยไม่ได้รับอันตราย

จังหวัดตราด เปิดเวทีเพื่อผู้พิการ ในงานวันคนพิการสากลจังหวัดตราด ประจำปี 2557

(18 ก.พ. 57)  นางสาวเบญจวรรณ อ่านเปรื่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดงานวันคนพิการสากลจังหวัดตราด ประจำปี 2557 ซึ่งจังหวัดตราดโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ร่วมกับชมรมคนพิการจังหวัดตราด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ร่วมกันจัดขึ้น ที่ลานเอนกประสงค์ศูนย์แสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด โดยมีคนพิการจำนวนมากเข้าร่วมงาน

นางสาวมนิดา ลิ่มนิจสรกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตราด กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการให้ความสำคัญกับคนพิการให้สามารถดำรงชีวิตเช่นบุคคลปกติ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยมีกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การมอบรางวัลให้กับหน่วยงาน องค์กร ที่สนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น การมอบวิลแชร์ให้กับผู้พิการ การแสดงของเยาวชนผู้พิการจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดตราด การจัดกิจกรรมจับฉลากมอบของขวัญให้กับผู้พิการ การมอบรางวัลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นที่จัดสวัสดิการสำหรับผู้พิการ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ให้กับผู้พิการ ตลอดจนการรับขึ้นทะเบียนผู้พิการ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดตราดมีฐานข้อมูลผู้พิการแล้วกว่า 4,000 ราย และกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้รับสิทธิต่าง ๆ จากภาครัฐ

“อำนวย” ผู้ตรวจฯ เขต 9 จี้จังหวัดเร่งดำเนินการโครงการ”ครัวไทยสู่ครัวโลก”ตามนโยบายของรัฐบาล

วันที่ 18 ก.พ.ที่ห้องประชุมศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นายอำนวย โชติสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 9 พร้อมคณะฯ ได้เดินทางมาตรวจราชการติดตามโครงการเร่งด่วนต่างๆ ของรัฐบาลที่จังหวัดระยอง โดยมีผู้แทนภาครัฐ เอกชน ตลอดจนผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมประชุมจำนวน 50 คน ซึ่งการมาตรวจติดตามการดำเนินโครงการเร่งด่วนดังกล่าว เป็นการตรวจราชการแบบบูรณาการเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นการเร่งดำเนินการตามนโยบาย "ครัวไทยสู่ครัวโลก”

นายอำนวย กล่าวว่า รัฐบาล ได้ดำเนินโครงการ "ครัวไทยสู่ครัวโลก” เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์อาหารและเพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร โดยเป้าหมายหลักของโครงการ คือ การผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพสูง ในราคาที่สามารถแข่งขันได้ ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ 1.การขยายธุรกิจการเกษตรและอาหาร 2.การเพิ่มมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง 3.การสนับสนุนความร่วมมือระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและระดับโลก ซึ่งจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร 4.สนับสนุนการลงทุนของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายร้านอาหารไทยในต่างแดน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ทำกิน แม่น้ำ เกษตรกร รวมทั้ง พ่อครัวและผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยรัฐบาลไทยเร่งส่งเสริมนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงด้านคุณภาพในระดับสากล

นายอำนวย กล่าวต่อว่า จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร โดยเฉพาะเป็นเมืองแห่งผลไม้ และสินค้าทางด้านการเกษตร จากการรับฟังรายงานในที่ประชุม ทราบว่า จังหวัดได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรทั้งผลไม้ และพืชผักสู่มาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่องแล้วโดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้คุณภาพดีผ่านกระบวนการเรียนรู้และเรียนศึกษาดูงาน แก่เกษตรกร มีการอบรมระบบการผลิตตามมาตรฐาน GAP พืช และมีการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษ การจัดกระบวนการเรียนรู้ผักปลอดภัยและ GAP ผักด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาทักษะกำลังแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารรองรับนโยบายอีกด้วย

IRPC ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้จัดโครงการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่29 มกราคม 2557 ณ ศาลาศาลเจ้าหมู่ 1 บ้านนาตาขวัญ ต. นาตาขวัญ อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อเป็นการดูแลชุมชนบริเวณรอบเขตประกอบการฯ ให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น,ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเขตประกอบการฯ และเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ซึ่งมีการตรวจรักษาโรคทั่วไป,บริการด้านทันตกรรมโดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์,บริการตัดผม(ฟรี!)จากโรงเรียนเสริมสวยนิรันดร์รัตน์นอกจากนั้น ยังมีทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม ได้ทำการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินงานการดูแลสิ่งแวดล้อม ของเขตประกอบการฯ รับสมัครบัตรไออาร์พีซีการ์ดเคลื่อนที่ พร้อมทั้งรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนด้วย บริษัทฯ ยึดมั่นในหลักการ การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทย

ผู้ตรวจฯ เขต 9 ตรวจติดตามโครงการส่งเสริมอาชีพทำกิน กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปกล้วยชุมชนมาบชะลูด จ.ระยอง

เมื่อเวลา 13.00 น.ของวันที่ 18 ก.พ.ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนมาบชะลูด ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง นายอำนวย โชติสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 9 พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจติดตามโครงการส่งเสริมอาชีพทำกินตามนโยบายของรัฐบาล ที่กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปกล้วยชุมชนมาบชลูด มีนางจิรสุดา สุขเจริญ ประธานกลุ่มฯ พร้อมสมาชิกให้การต้อนรับ พร้อมสาธิตการแปรรูปกล้วย การแพ็กกิ้งหีบห่อ ให้ชม ประกอบด้วย กล้วยกวน และกล้วยฉาบ

นายอำนวย กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาบชลูดที่ทำการแปรรูปกล้วย เป็นอีกกลุ่มชุมชนที่ทางภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ โดยทางจังหวัดได้ของบประมาณไปดำเนินการส่งเสริมอาชีพชุมชนดังกล่าว ซึ่งการมาตรวจติดตามครั้งนี้ เพื่อมาดูว่ามีการใช้งบประมาณการดำเนินการของกลุ่มขับเคลื่อนอย่างไร ตลอดจนการต่อยอดให้ยั่งยืนอย่างไรบ้าง มีปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานอย่างไรบ้างด้วย

 นายอำนวย กล่าวต่อว่า จากการตรวจติดตามการดำเนินงานของกลุ่ม พบว่าทางกลุ่มมีความเข้มแข็งมาก เนื่องจากชุมชนดังกล่าวอยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามงบประมาณที่ให้ก็มีจำกัด ทำให้การดำเนินการยังขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหาตลาดรองรับ และแพ็กกิ้งหีบห่อให้เป็นที่สนใจผู้บริโภค ซึ่งตรงนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความรู้ และทักษะต่างๆ เพื่อให้กลุ่มดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ให้ชุมชนมีรายได้สามารถพึ่งพาตนเองได้

เอสซีจี เคมิคอลส์ จัดกิจกรรมเปตองเชื่อมความสัมพันธ์ชุมชนครั้งที่ 1

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เอสซีจี เคมิคอลส์ จัดพิธีมอบลูกเปตอง ให้กับชุมชน 46 ชุมชนและอีก 6 กลุ่มประมงในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด และเทศบางตำบลมาบข่าพัฒนา รวมมูลค่า 550,000 บาท ภายใต้โครงการ "เปตองเชื่อมความสัมพันธ์ชุมชน” เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายภายในชุมชน ซึ่งจะมีการจัดการแข่งขันเปตองเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่าง เอสซีจี เคมิคอลส์ และชุมชน ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2557 พร้อมกันนี้ ยังได้จัดกิจกรรมแนะนำตัวคณะผู้บริหารเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ดูแลชุมชนแต่ละพื้นที่ กับคณะกรรมการชุมชนที่มาร่วมงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อไปอีกด้วย

เอสซีจี เคมิคอลส์ จัดกิจกรรมพัฒนาชายหาดอย่างต่อเนื่อง

เอสซีจี เคมิคอลส์ จัดกิจกรรมพัฒนาชายหาดอย่างต่อเนื่อง โดยหมุนเวียนไปตามชายหาดต่างๆ ในจังหวัดระยองเป็นประจำทุกเดือน และในวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ได้นำพนักงานบริษัทในกลุ่มฯ ประกอบด้วย บริษัท แกรนด์ สยามคอมโพสิต จำกัด (GSC) และบริษัท สยามมิตซุย พีทีเอ จำกัด (SMPC) ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กหนองแฟบ รวมกว่า 50 คน ช่วยกันเก็บขยะบริเวณชายหาดหนองแฟบ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง เพื่อความสะอาด ปรับภูมิทัศน์ให้สวยงานและความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

มหกรรมแก้จน สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนจังหวัดสระแก้ว

ที่ หอประชุมปางสีดา ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว นายภัครธรณ์  เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วเป็นประธานเปิดงานมหกรรมแก้จน สร้างคน สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนจังหวัดสระแก้ว โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสระแก้ว ซึ่งการจัดงานในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัว สำหรับกิจกรรมของงานในวันนี้ประกอบด้วยการบรรยายแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง/ เวทีเสวนา ในหัวข้อ "แก้ปัญหาความยากจนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”/ การมอบรางวัลการประกวดภาพถ่าย ตามแนวคิดที่ว่า "บ้านฉันก็มีวิถีพอเพียง”  /การมอบวัสดุสาธิตอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจนต้นแบบ และนิทรรศการ "ตลาดอาชีพจากส่วนราชการและภาคประชาชน”ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนชาวจังหวัดสระแก้วร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นจำนวนมาก

นายมงคล ปัตลา พัฒนาการชุมชนจังหวัดสระแก้ว นายมงคล ปัตลา พัฒนาการชุมชนจังหวัดสระแก้ว นายมงคล ปัตลา พัฒนาการชุมชนจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้มอบหมายให้จังหวัดดำเนินการโครงการการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการตามแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนลดคามเลื่อมล้ำด้านรายได้ ด้วยการขจัดปัญหาความยากจนในชนบทตอบสนองอุดมการณ์กระทรวงมหาดไทยในการ "บำบัดทุกข์ บำรุง ให้แก่ประชาชน” ซึ่งทางจังหวัดสระแก้วมีครัวเรือนยากจน จำนวน 144 ครัวเรือน  คือมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อคน ต่อปีและการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนในปี 2557 มีเป้าหมายให้ครัวเรือนยากจนลดลงอย่างน้อย จำนวน 101 ครัวเรือน

นายภัครธรณ์  เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดสระแก้ว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน และเกิดการบูรณาการการทำงานที่เป็นนโยบายของจังหวัดที่ใช้นโยบาย 4 ดี คือ คนดี สุขภาพดี รายได้ดี และสิ่งแวดล้อมดี เป็นต้นแบบในการพัฒนาจังหวัดตลอดจนการนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการดำเนินชีวิต