วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ป.ป.ส.ภาค 2 เผย ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก เกิดจาก 3 อัตลักษณ์ที่สำคัญ ระบุ การสร้างครัวเรือนสีขาวยังเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหายาเสพติด

(9 พ.ค. 57) นายธงชัย ไชยพรหม ผู้อำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ส. ภาค 2 กล่าวระหว่างร่วมเวทีเสวนาเครือข่ายสื่อมวลชนภาคตะวันออกเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งส่วนยุทธศาสตร์และอำนวยการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 2 (ป.ป.ส.ภาค 2 ) ร่วมกับสำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 ร่วมกันจัดขึ้นที่ โรงแรมจอมเทียนการ์เด้นท์ รีสอร์ท จ.ชลบุรี ว่า สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออกในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากอัตลักษณ์ของภาคตะวันออก ที่มีผลต่อสถานการณ์ยาเสพติด ใน 3 ด้าน คือ 1. เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับชาติ โดยเฉพาะ พัทยา ตลาดโรงเกลือ เกาะช้าง ทำให้มีประชากรเดินเข้าออก มาในพื้นที่มากกว่า 10 ชาติ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กลุ่มผู้ค้าจะปะปนมากับกลุ่มนักท่องเที่ยว 2. เป็นแหล่งการเกษตร โดยเฉพาะสวนผลไม้ ยางพารา และเป็นแหล่งอาชีพการประมง ที่มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวนับเป็นกลุ่มเสี่ยงในการนำยาเสพติดเข้ามาใช้ และ 3.ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ ที่มีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รวมถึง 26 แห่ง จึงมีจำนวนผู้ใช้แรงงานจากทั่วประเทศเดินทางเข้ามาทำงาน จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการนำยาเสพติดมาใช้ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน อัตลักษณ์ทั้ง 3 จึงเป็นสิ่งดึงดูดกลุ่มผู้ค้านำยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หรือกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ใช้ยาเสพติด

ดังนั้นการทำให้สังคมไทยปลอดจากยาเสพติด ทาง ป.ป.ส.ภาค 2 จึงได้เร่งดำเนินการตามยุทธศาสต์ 2 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ประกอบด้วย การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยใช้พลังของภาคประชาชน ที่มุ่งสร้างให้ครัวเรือนทุกครัวเรือนเป็นครัวเรือนสีขาวมีความเข้มแข็ง ผ่านกระบวนการคัดแยก กลุ่มผู้ค้า ผู้เสพ ยาเสพติด ออกจากครัวเรือนที่ปลอดจากยาเสพติด พร้อมดำเนินการตามกระบวนการบำบัดฟื้นฟู หรือดำเนินการตามกฎหมาย โดยมุ่งเน้นให้ครัวเรือนแต่ละครัวเรือยคงสถานเป็นครัวเรือนสีขาว ส่วนขาที่สองในการดำเนินการ คือ กลไกล การดำเนินของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องจัดการกับกลุ่มผู้เสพ และผู้ค้ายาเสพติด

อย่างไรก็ตามจากฐานข้อมูลด้านผู้เสพยาเสพติด 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จำนวน ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ที่เข้าสู่กระบวนการบำบักรักษา เป็นผู้เสพรายใหม่ถึงร้อยละ 70 ส่วนผู้ที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาเสพซ้ำมีประมาณร้อยละ 30 และจากการตรวจสอบผู้ที่เข้าสู่กระบวนการบำบัด คัดแยกตามอายุพบว่าผู้เสพหน้าใหม่มีอายุน้อยลง เมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นกระบวนการป้องกันผู้เสพยาเสพติดหน้าใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน จึงนับเป็นอีกประเด็นที่สำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งครอบครัวนับเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมที่สำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติดเข้าสู่กลุ่มเยาวชน ดังนั้นกระบวนการสร้างครัวเรือนสีขาวปลอดยาเสพติดจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติดให้กับสังคมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น