(18 ก.พ. 57) นายฐิตนันท์ อุดมสุข หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด กล่าวหลังการเปิดโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กับประชาชนหมู่ที่ 2, 3 และ 5 ตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมืองตราด ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแร้ง ว่า ในอดีตรูปแบบการดำเนินการจัดการภัยพิบัติ คือ การตั้งรับโดยเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้วจึงเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาที่ตามมา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่มากมาย แต่การดำเนินการโครงการนี้เป็นแนวคิดในการจัดการภัยพิบัติแผนใหม่ คือ การดึงประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ โดยการให้ประชาชนเข้ามาคิดเองจัดการเองว่าในหมู่บ้านของตนมาสิ่งแวดล้อมอย่างไรภัยพิบัติที่เสี่ยงต่อหมู่บ้านของตนมีอะไรบ้าง จากนั้นประชาชนจะได้ร่วมกันจัดทำแผนที่ชุมชนว่าพื้นที่ตรงไหนของหมู่บ้านเป็นจุดเสี่ยงภัย หรือพื้นที่ตรงไหนเป็นพื้นที่ปลอดภัย จากนั้นจึงให้ประชาชนร่วมจำลองสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติในหมู่บ้านของตนพร้อมทั้งเรียงลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยงดำเนินการ อย่างไรก็ตามการดำเนินการในครั้งนี้ได้มีการคัดเลือกตำบลแห่งนี้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังจากน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาชนในชุมชน พร้อมทั้งสร้างระบบเตือนภัยในชุมชน และมีการจัดตั้งทีมกู้ภัยประจำชุมชน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาแล้ว ประชาชนในชุมชนดังกล่าวสามารถขนย้ายทรัพย์สิน และเอาตัวรอดจากเหตุการณ์โดยไม่ได้รับอันตราย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น