(30 เม.ย. 57) ที่กองร้อยทหารพรานนาวิกโยธินที่ 512 บ้านมะม่วง ตำบลนนทรีย์ อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด พลโทบุญชู เกิดโชค เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และเลขานุการกองอำนวยการปฏิบัตินโยบายชายแดน(กอ.นชท.) และคณะเดินทางตรวจพื้นที่จุดผ่อนปรนการค้าบ้านมะม่วง ต.นนทรีย์ อ.บ่อไร่ จ.ตราด เพื่อตรวจดูสภาพพื้นที่และความพร้อมในการที่จะยกระดับขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวรในอนาคต โดยก่อนที่จะเดินทางไปในพื้นที่ได้รับฟังบรรยายสรุปที่กองร้อยทหารพรานนาวิกโยธินที่ 512 บ้านมะม่วง จากนาวาเอกสุบรร ดีนอก หัวหน้าชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธินที่ 1 (ชค.ทพ.นย.ที่ 1 ) ถึงการเดินทางเข้าออกและการค้าบริเวณช่องทางนี้ ซึ่งพบว่า ใน1 สัปดาห์จะให้มีการค้าขายได้ 3 วัน(พุธ-ศุกร์) ซึ่งประชาชนกัมพูชาในอำเภอสำรูด จังหวัดพระตะบองจะนำสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด และของป่ามาขายในอำเภอบ่อไร่ ที่เป็นตลาดนัด ส่วนฝั่งไทยจะนำสินค้าอุปโภค-บริโภค และวัสดุก่อสร้างไปจำหน่าย มีมูลค่าการค้าประมาณ 12,000-15,000 บาท/สัปดาห์ ส่วนส่งออกก็มีมูลค่าใกล้เคียงกัน ส่วนจำนวนประชาชนชาวกัมพูชาที่เข้ามามีประมาณ 200 - 300 คนต่อวันเท่านั้น ส่วนการเดินทางสภาพในต.นนทรีย์ยังมีสภาพที่สูงชัน รถยนต์ที่จะบรรทุกไปยังไม่สะดวก ส่วนถนนก่อสร้างทั้งหมดแล้วยกเว้นในพื้นที่รอยต่ออีก 400 เมตรยังเป็นลูกรัง ขณะที่ฝั่งกัมพูชาเป็นถนนที่ดี เป็นที่ราบ และกำลังมีการก่อสร้างโรงแรมและกาสิโนในฝั่งกัมพูชาที่ห่างจากชายแดนประมาณ1 กิโลเมตร จากนั้นคณะได้เดินทางไปยังเนินสี่ร้อย ซึ่งพบกับตำรวจตะเวนชายแดนของกัมพูชาดูแลอยู่พร้อมมอบสิ่งของให้ทหารพรานของไทยและตำรวจตะเวนชายแดนของกัมพูชา พร้อมทั้งสอบถาม นายก อบต.นนทรีย์ ถึงความพร้อมในการยกระดับขึ้นเป็นจุดผ่านแดนถาวร
พลโทบุญชู กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อตรวจสภาพความพร้อมของพื้นที่ในการยกระดับพื้นที่จุดผ่อนปรนเป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งพบว่าพื้นที่ยังมีสภาพที่ยังไม่พร้อมและมูลค่าการค้ายังไม่มาก การเดินทางไปมาของประชาชนยังมีน้อย แต่ทางคณะไม่ได้มีหน้าที่ในการผลักดันให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร แต่เป็นผู้รับทราบปัญหาเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลในเรื่องความมั่นคง ทั้งในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดจะได้รายงานให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อไป ทั้งนี้ทางคณะไม่สามารถตอบแทนรัฐบาลได้ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ชายแดน และปัญหาการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามา เพียงรับทราบเพื่อนำเสนอปัญหาเท่านั้นส่วนการปฏิบัติในเชิงนโยบายเป็นการดำเนินการของรัฐบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น